ศิลปะกับการออกแบบ ต้องเดินไปพร้อมกับนักออกแบบ

ถ้าพูดถึงคำว่าการออกแบบหรือ “ดีไซน์” (design) เชื่อว่าหลายคนมักจะใช้คำนี้พ่วงติดมากับคำว่า ศิลปะหรือ “อาร์ต” (art) รวมกันเป็นคำว่า Art & Design ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราเห็นและได้ยินคำสองคำนี้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะจากชื่อสถาบันสอนศิลปะและการออกแบบ (Art & Design School) หลายๆแห่ง หรือจากสื่อต่างๆที่แวดล้อมรอบตัวเรา ทั้งที่ความจริงแล้ว “ศิลปะกับการออกแบบ” แม้จะเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกันอยู่ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกันเสียเมื่อไราจะเรียกว่าเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ก็ไม่น่าจะผิดนัก

การออกแบบเกิดขึ้นเพื่อมุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหาของสิ่งต่างๆ ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการ ดังนั้น การออกแบบจึงกินความหมายครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกสาขาวิชาที่ต้องการการวางแผนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การออกแบบอาคารบ้านเรือน ผังเมือง ถนนหนทาง เพื่อการอยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิต การออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยประหยัดพลังงาน การออกแบบหลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษเพื่อให้เรียนรู้ครบทุกทักษะ การออกแบบแผนการทำธุรกิจเพื่อทำกำไรสูงสุด ลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด การออกแบบเวทีละครเพื่อให้เกิดความสวยงามและใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การออกแบบเว็บไซต์เพื่อให้ใช้งานง่าย เข้าใจง่าย ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม หากจะบอกว่าการออกแบบทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นศิลปะการใช้ชีวิตและเป็นศิลปะในการจัดการกับปัญหาในชีวิตอย่างหนึ่งก็คงไม่ผิด แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ถ้าหากเราเอาการออกแบบไปผูกติดอยู่กับศิลปะ การรับรู้ของเรา จะถูกตีกรอบจำกัดอยู่ในความหมายของทัศนศิลป์ (visual art) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และตรงนี้เองที่ทำให้หลายคนเลิกคิด มองข้าม ละความสนใจ หรือแม้กระทั่งเพิกเฉยต่อการคิดริเริ่มออกแบบ เพราะคิดไปว่า การออกแบบเป็นของที่กินไม่ได้ ไม่เกี่ยวข้องกับปากท้อง ชีวิต และการทำมาหากินโดยตรง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์ในทุกวันนี้